พยานบุคคล

พระอาจารย์สุธรรม อจลธมฺโม
(หลวงปู่ธรรม)

“พระกรรมกรเอาธรรมะไปกินหมดแล้ว”

1.ประวัติ 

           เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 15 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2492  บิดาชื่อนายน้อย มารดาชื่อ นางบุญ นามสกุล สุ่มมาตร์ มีญาติพี่น้อง 8 คน ท่านเป็นคนที่ 6 ณ บ้านยางกู่ ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
           หลวงปู่สุธรรม อจลธมฺโม ท่านสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถม 4 ที่ โรงเรียนบ้านยางกู่ ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อครอบครัวของท่าน ได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์สวด มาพักภาวนาอยู่ที่ วัดป่าโนนสมบูรณ์ บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทางครอบครัว เคารพนับถือและศรัทธาพระอาจารย์สวดมาก จึงได้ย้ายถิ่นฐานติดตามมาด้วย หลังจากนั้นโยมแม่ของหลวงปู่สุธรรม อจลธมฺโม ก็ได้ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ 

2.จุดเปลี่ยน ทำไมท่านถึงมาบวช

            นอกจากช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำนาแล้ว ท่านยังประกอบอาชีพเป็นช่างภาพด้วย ต่อมาหลวงปู่สุธรรม อจลธมฺโม ได้เกิดความสลดสังเวชขึ้น จึงได้ตัดสินใจเลิกประกอบอาชีพเป็นช่างภาพ เมื่อเลิกประกอบอาชีพเป็นช่างภาพแล้ว ช่วงนั้นก็ได้เกิดความคิดถึงโยมพี่สาวที่อาศัยอยู่ที่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เมื่อได้มาเยี่ยมโยมพี่สาวแล้ว ท่านก็ได้มีความคิดที่อยากจะบวช จึงได้ปรึกษาหารือกับโยมพี่สาว โยมพี่สาวของท่านจึงได้แนะนำ ให้เข้าไปพบหลวงปู่ทูล ขิปฺปปัญโญ ที่วัดป่าบ้านค้อ ซึ่งในขณะนั้น หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ  กำลังสร้างวัดป่าบ้านค้ออยู่           
            หลังจากเข้ามาพบหลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ แล้วท่านก็ได้ขอเข้านาค เพื่อที่จะได้เตรียมตัวบวชเข้าสู่เส้นทางธรรม เนื่องจากท่านได้พิจารณาแล้วว่า ในขณะนั้นท่านมีอายุมากแล้ว  

            และได้เข้าอุปสมบทที่ วัดอรัญญิกาวาส ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันศุกร์ ที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2531 อุปสมบทตอนอายุ 39 ปี โดยมี พระครูวิริยโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูภาวนาจิตสุนทร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเป็นพระอนุสาวนาจารย์

3.บวชแล้วมีอุบายหรือแนวทางอะไรที่ทำให้ดำรงอยู่ในเพศนักบวชจนจึงปัจจุบัน

            หลวงปู่ท่านมีนิสัยที่เด็ดเดี่ยว ขยัน พากเพียร ปฏิบัติภาวนาแบบอุกฤษ์มาก ท่านมีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีความมั่นใจในแนวทางการปฏิบัติภาวนา ของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ จึงตั้งใจปฏิบัติ ภาวนามาก ท่านคิดเพียงว่าเมื่อตั้งใจมาบวชแล้ว ก็ต้องตั้งใจปฏิบัติภาวนาแบบเอาจริงเอาจัง เพื่อถึงที่สุดแห่งการพ้นทุกข์ให้ได้ ในตอนกลางวันท่านก็จะช่วยงานพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ พร้อมกับหมู่คณะ ซึ่งในขณะนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ กำลังสร้างวัดอยู่ ก็จะมีงานก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ 

            หลวงปู่เล่าว่า ท่านเป็นเหมือนพระกรรมกร มิใช่พระกรรมฐาน ท่านทำงานขูดสีรอบๆศาลา คนอื่นมองว่าเป็นงานน่าเบื่อไม่น่าทำ เขาก็จะทำเป็นครั้งคราวไม่ต่อเนื่อง  แต่หลวงปู่ท่านขูดสีไปด้วยท่านก็พิจารณาธรรมไปด้วย ใครจะเห็นหรือไม่เห็น ท่านเล่าว่าท่านก็ไม่สนใจ  ท่านนั่งทำงานและพิจารณาธรรมของท่านไปอย่างเพลิดเพลิน โดยไม่พูดจากับใคร

            หลังจากทำงานในตอนกลางวันเสร็จแล้ว เมื่อท่านสรงน้ำชำระร่างกายให้สะอาดแล้ว ในช่วงตอนเย็น ท่านมักจะชักชวนหมู่คณะไปเดินภาวนาในป่า บริเวณรอบๆ วัดป่าบ้านค้อ เช่น บ้านห้วยทราย เป็นต้น เดินภาวนาจนถึงเกือบรุ่งเช้าก็จะพากันกลับเข้ามาในภายวัดป่าบ้านค้อ 

            ท่านพิจารณา “บาตร “ ของท่านเอง โดยโอปนยิโก คือน้อมเอาบาตรมาเทียบกับตัวเอง โดยพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุ ๔ 

            หลวงปู่สุธรรม ท่านพิจารณาธรรมจากสิ่งที่เข้าไปสัมผัส ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โดยนำสิ่งข้างนอก เทียบข้างใน และข้างในเทียบข้างนอก โดยใช้หลักไตรลักษณ์มาประกอบในการพิจารณา จนกระทั่งแยบคายหายสงสัย และสามารถปล่อยวางสิ่งที่ค้างคาในใจได้ โดยท่านทำงานไปด้วยพิจารณาไปด้วย ด้วยความมุ่งมั่นไม่ท้อถอย หวังที่จะทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้สิ้นในชาตินี้เพราะเห็นทุกข์โทษภัยของการเกิด ประกอบกับท่านมีความเคารพศรัทธาหลวงปู่ทูลอยู่แล้ว ท่านจึงสิ้นความสงสัยในธรรมของพระพุทธองค์ ที่ได้ปฏิบัติโดยเห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเอง ในเวลาไม่นาน


4.ความประทับใจเกี่ยวกับหลวงพ่อทูล หรือความเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทูล

            หลวงปู่ท่านประทับใจในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อทูล รวมถึงแนวทางการสอน โดยเฉพาะหลักการใช้ปัญญาอบรมใจ จึงนำไปปฏิบัติ จนผลปรากฏขึ้นกับตนเอง เพื่อสมกับเป็นศิษย์มีครูบาอาจารย์

            หลวงปู่ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ที่วัดป่าโนนสะอาดในขณะนั้นไม่มีเจ้าอาวาส เขาจึงนิมนต์ท่านให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัด ท่านไม่ได้อยากเป็นเจ้าอาวาส แต่พอดีถึงคราวจำเป็นก็เลยยอม ก่อนที่หลวงปู่สุธรรม จะมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัด  หลวงปู่ทูล ขิปปปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านค้อ ได้แจ้งทางชาวบ้านโนนสะอาดว่า ท่านนำของดีมาให้ชาวบ้านโนนสะอาด ให้ชาวบ้านรักษาไว้ให้ดี  

5.ปฏิปทาข้อปฏิบัติหรือข้อธรรม

            ข้อวัตรของหลวงปู่ ช่วงเช้ามืด ท่านจะมาจัดแจงเสนานะของท่านที่ศาลา แล้วออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ฉันเช้าเสร็จ ท่านก็จะเดินจงกรม ท่านว่าบริหารธาตุขันธ์เฉย ๆ  ตอนบ่ายท่านก็ออกตีตาดกวาดใบไม้ จนใครไปวัดอดชมไม่ได้ว่า ท่านอยู่เพียงรูปเดียวทำไมวัดดูสะอาดขนาดนี้  

          ท่านเป็นพระที่สำรวมเรียบร้อย พูดน้อย แต่หากสอบถามธรรมะ ก็จะมีคำตอบแบบชัดเจนเข้มแข็ง ฟังแล้วผู้ภาวนามีความฮึกเหิมในการภาวนาเป็นอย่างยิ่ง หากจะเปรียบก็แบบลักษณะพูดน้อย แต่ต่อยหนัก หลวงปู่ท่านเปรยว่าท่านเทียบการต่อสู้กับกิเลสของท่านแบบการชกมวย  

            หลวงปู่ยังสอนว่า เราเกิดมาเพื่อดูให้รู้ เหมือนดูละคร แต่อย่าลงไปเล่นเป็นตัวละครเสียเอง คืออย่าเข้าไปพัวพัน เช่นมีครอบครัว เพื่อให้เห็นความทุกข์ เพราะถึงไม่มีครอบครัว ก็เห็นความทุกข์ของคนมีครอบครัวได้ 

            หลวงปู่สอนว่า มรรคคือทางพ้นทุกข์ เป็นเพียงทางผ่าน เมื่อไปถึงจุดหมาย ก็ต้องทิ้ง เหมือนเมื่อเรานั่งเรือข้ามฝั่ง เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ต้องทิ้งเรือเพื่อขึ้นฝั่งไปยังจุดหมาย เพราะหากไม่ทิ้งเรือ ก็ไม่สามารถขึ้นฝั่งไปสู่จุดหมายได้ 

          หลวงปู่ธรรมเป็นศิษย์หลวงพ่อทูลรูปหนึ่งที่ท่านปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยสติและปัญญาของท่าน จึงสามารถรู้เห็นธรรมได้ในเวลาไม่นาน 

6.อาพาธและมรณกาล

            หลวงปู่สุธรรม อจลธมฺโม ได้อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ และปอดติดเชื้อ โดยเข้ารับการรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ต่อมาอาการอาพาธไม่ดีขึ้น 

            หลวงปู่สุธรรม อจลธมฺโม ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 เวลา 18.20 น. ณ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

สิริอายุ 73 ปี 4 เดือน 13 วัน พรรษา 35

แบ่งปันหน้านี้…