พยานบุคคล
นายสิงห์ ศรีภาอุด
(นายสิงห์ บ้านป่าลัน)
“ไม่รู้หนังสือ แต่รู้เห็นธรรม”
เรื่องของนายสิงห์ บ้านป่าลัน หลวงพ่อทูลได้เขียนไว้เป็นอุบายสอนใจ นายสิงห์เคยมาช่วยงานทางวัดอยู่บ่อยๆ ไม่เคยบวช ไม่เคยไหว้พระ อ่านหนังสือไม่ได้ ไม่เคยฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์มาก่อน ไม่เคยนั่งสมาธิ หลวงพ่อทูลได้บอกกับนายสิงห์ไปว่า “ถ้าไม่เคยทำสมาธิให้เราฝึกปัญญา” ให้ใช้ความคิดธรรมดาที่มีอยู่ เราเคยใช้ความคิดไปในทางโลก มาคิดฝึกเสียใหม่ว่า สมบัติที่เรามีทั้งหมด ไม่มีส่วนใดเป็นของเราตลอดไป
ในขณะนั้นนายสิงห์รู้สึกว่าตั้งใจฟังเหตุผล ด้วยความตั้งใจบอกนายสิงห์ไปว่าให้คิดไว้ 5 อย่าง
- คิดเรื่องที่ได้สมบัติมา
2.คิดเรื่องที่สมบัติหายไป
3.คิดเรื่องที่ตายจากสมบัตินี้ไป
4.คิดว่าไม่มีสมบัติอะไรที่เป็นของเราตลอดไป
5.คิดว่า ชีวิตเราเพียงอาศัยสมบัติอยู่ในชั่วขณะเท่านั้น
จึงได้บอกกับสิงห์ไปว่า การใช้ความคิดนี้ให้เป็นความคิดของตัวเองเท่านั้น และฝึกพูดในใจโดยไม่ต้องออกเสียงให้ใครได้ยิน คิดอย่างนี้ติดต่อกันประมาณ 7 วัน คิดได้อย่างไร จงมาพูดให้อาจารย์ฟัง
ในอีก 3 วันต่อมา นายสิงห์ได้มารายงานตัว และตอบด้วยความมั่นใจ รู้สึกว่าคิดได้ดีมีความต่อเนื่องกัน เมื่อคิดในเรื่องหนึ่งได้แล้วการคิดในเรื่องที่สองก็ง่ายขึ้น ทำการทำงานอยู่ก็คิดในเรื่องนี้ได้ ตอนกลางคืนยิ่งคิดได้ดี แทบไม่ได้หลับนอนเลย ยิ่งคิดใจก็ยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากได้ในสมบัติอะไรเลย มันเหมือนอาจารย์พูดมาทั้งหมด ไม่มีสมบัติอะไรเป็นของเราเลย หลวงพ่อทูลก็ได้บอกกับนายสิงห์ไปว่า เอาเรื่องเก่าๆนั้นแหละมาคิดอีก ยิ่งคิดบ่อยเท่าไหร่ใจก็จะค่อยรู้จริงเห็นจริงมากขึ้น ให้เราฝึกใจปฏิเสธในสมบัติที่เรามีอยู่ทุกประเภทบ่อยๆ ใจก็จะค่อยปล่อยวางในสมบัตินี้
ในวันต่อมานายสิงห์ได้รายงานผลของการปฏิบัติที่ได้ให้รับฟัง ใจก็ยอมรับว่าไม่มีสิ่งใดเป็นของเรา ในการพิจารณาครั้งนี้ ใจได้รู้เห็นในความจริงได้อย่างละเอียด ในคืนนั้นนั่งอยู่ด้วยความอิ่มเอิบใจตลอดทั้งคืน ก็ไม่เสียดาย หวงแหนอะไรทั้งสิ้น ใจไม่มีความยึดติด นายสิงห์เชื่อว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ มีจริง ผลแห่งกรรมดี กรรมชั่วมีจริง ต่อไปนี้ ศีล 5 ของผมไม่มีคำว่าขาดและเศร้าหมอง
การได้บรรลุธรรมในขณะใด กิเลสก็ได้หมดไปในขณะนั้น ผู้ได้บรรลุธรรมในขั้นไหนก็ตามต้องรู้ได้ด้วยตนเอง เหมือนเรากินข้าวเมื่อเราอิ่มก็รู้ตัวว่าเราอิ่ม จะไปถามคนอื่นทำไมเล่า
พยานบุคคล
จุดเด่นแนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อทูล ตามวิธีปฏิบัติแบบเดิมเหมือนสมัยพุทธกาล
- การเปลี่ยนความเห็น คือจากเดิมที่เป็นมิจฉาทิฐิ เปลี่ยนให้เป็นสัมมาทิฐิ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริง
- การทวนกระแส คือการทวนกระแสของโลก (ราคะ ตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง)
- โอปนยิโก คือการน้อมพิจารณาจากภายนอก เข้าเทียบเคียงกับภายใน พิจารณาให้อยู่บนกฎของไตรลักษณ์
นอกจากนี้ ยังมีพยานบุคคลอีกหลายท่าน หลายเรื่องราว (สามารถหาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “พยานบุคคล” “อุบายสอนใจตนเอง” และอื่นๆ ) ดังนี้
ก่อกองทราย
เมื่อใดที่ได้มีโอกาสไปชายทะเล เด็กๆจะชอบลงเล่นน้ำกันสนุกสนาน เมื่อเบื่อเล่นน้ำ เด็กๆ ก็จะชอบเล่นทราย โดยก่อเป็นรูปทรงต่าง ๆ กัน ส่วนมากจะคล้ายเจดีย์ เด็กบางคนก็ก่อ 1เจดีย์ บางคนก็ 2-3 เจดีย์ แล้วแต่ความต้องการของเขา บางคราวเด็กคนอื่นวิ่งมาโดนเจดีย์ที่เขาสร้างไว้พังไป เด็กคนสร้างก็จะโมโห ดุด่า บางคราวคลื่นหรือลมแรงมากๆ ก็อาจทำให้เจดีย์ทรายนั้นทรุดไปหรือพังลง เด็กๆ ก็ต้องหาทางปกปักรักษาเจดีย์ของเขาไว้ พอเบื่อเล่นทราย ก็จะวิ่งลงเล่นน้ำอีก
เมื่อถึงเวลาพอสมควรพ่อแม่ก็จะเรียกเด็กๆ กลับ เขาก็ทิ้งเจดีย์ทรายนั้นไป บางคนอาจจะเสียดาย อยากเอาไปด้วย แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อน้ำขึ้นเต็มที่น้ำก็จะพัดเจดีย์พังกลับกลายเป็นทรายดังเดิม เมื่อเด็กชุดใหม่มาก็จะมาเล่นก่อทรายอีก สร้างตามจินตนาการต่างๆ แล้วในที่สุดก็ต้องจากไปอีก ชุดแล้วชุดเล่า เด็กบางคนที่ยังติดใจอยู่ก็อาจให้พ่อแม่พามาอีก เด็กบางคนก็อาจไปเล่นที่หาดทรายอื่นบางคนก็เบื่อจึงไม่อยากกลับมาเล่นอีกแล้ว
ตัวท่านล่ะ อยากจะกลับมาก่อเจดีย์ทรายอีกหรือไม่ ?
แม่ไก่ไปไกลๆ
เช้าวันหนึ่ง ขณะเพลินกับการชมธรรมชาติ เห็นแม่ไก่ตัวใหญ่กำลังจิกกินข้าวเปลือกอยู่ที่ขอบกระด้งใบหนึ่ง โดยมีลูกไก่กลุ่มใหญ่กำลังจิกกินข้าวเปลือกอยู่ที่ขอบกระด้งอีกใบหนึ่ง เมื่อแม่ไก่เดินเข้าไปใกลั ลูกไก่กลุ่มนั้นจะผละหนีย้ายไปอีกกระด้งหนึ่ง แม่ไก่ก็ไม่ได้สนใจคงก้มหน้าจิกกินข้าวเปลือกต่อไปอย่างสบายใจ
ภาพนั้นทำให้ฉันรู้สึกสะกิดใจ ย้อนไปถึงภาพที่ทำงานซึ่งฉันเป็นผู้อำนวยการกอง มีลูกน้องร่วม 200 คน ที่ส่วนใหญ่จะมาทำงานใกล้เวลา 8.30น. พอมาถึงก็จะไปทักทายแล้วเอาอาหารไปทานร่วมกัน ฉันก็จะชะเง้อดูพวกเขา พอ 8.45น.ก็จะทนไม่ไหว เดินเข้าไปตามกลุ่มต่างๆ เสแสร้งทักทายพอเป็นพิธี พวกเขาก็จะรีบลุกขึ้นพากันเก็บของแล้วไปยังโต๊ะของตัวเอง
เมื่อกลับจากทำงานถึงบ้าน เห็นสามีกับลูก 2 คน นั่งดูทีวีกันอย่างมีความสุข แต่พอฉันเดินเข้าไปสามีก็จะลุกขึ้นไปปิดทีวี ลูกทั้งสองก็แยกย้ายกันไปหยิบไม้กวาด ผ้าเช็ดโต๊ะ ทำทีเป็นจัดข้าวของเข้าที่ ภาพเหล่านั้น ฉันรู้สึกสะเทือนใจว่านี่เราตัวใหญ่เหมือนแม่ไก่ตัวนั้น ทุกคนกลัวเราเขาไม่มีความสุขเมื่ออยู่ใกล้เรา เพราะเราปรับตัวเองไม่เป็น พูดไม่เป็น แสดงตามบทบาทไม่เป็น มุ่งแต่ผลงาน ผลเงิน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจิตใจคน ฉันจึงปรับตัวเองใหม่ มองธรรมชาติของคนรอบข้างมากขึ้น พัฒนาสีหน้า ท่าทาง แววตา และคำพูดให้ดีขึ้น ชีวิตที่ทำงาน และที่บ้านจึงสบายใจมากขึ้น
รองเท้าคาวบอย
วันหนึ่งกลับมาจากที่ทำงานด้วยความเมื่อยล้า เห็นสามีกำลังนั่งเช็ดถูรองเท้าคาวบอยอย่างมีความสุข ใจรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาคิดว่าสามีคงเพี้ยนแน่เลย อายุปูนนี้แล้วยังจะใส่รองเท้าแบบนี้อีก จึงทำเสียงกระแอมดังๆ ขึ้นมา แต่เมื่อได้ยินเสียงตัวเองแล้วเอะใจว่านี่เรากำลังจะหาเรื่องหรือเปล่าเพราะเสียงกระแอมมันดังยังไงก็ไม่รู้
สามีเงยหน้ามองพร้อมรอยยิ้ม ฉันรีบปรับโทนเสียง “เพิ่งซื้อรองเท้าใหม่มาหรือ?” เขาตอบว่า“เพิ่งซื้อมา สั่งเขาไว้นานแล้วถูกใจมากเลย” ขณะนั้นความคิดทำงานเร็วมากถามตนเองว่า เราโกรธสามี? ในใจตอบว่าไม่โกรธเรามองว่าเป็นของไร้สาระ? ในใจตอบว่าใช่! แล้วถามตัวเองว่า “แล้วเราหละ?” เคยซื้อของไร้สาระพวกนี้เยอะไหม ตอบว่า เยอะมาก เราเองก็เคยซื้อของที่มองดูไร้สาระ ไม่มีประโยชน์มามากมายเต็มตู้ไปหมด ทำไมไม่คิดโกรธตัวเองบ้าง รองเท้าคู่นี้สามีชอบ
เราไม่ควรตำหนิว่าไร้สาระ แต่สิ่งที่ต้องนำมาสอนใจคือ การซื้อของต่อไป ต้องพิจารณาประโยชน์ก่อนอื่น อย่าซื้อตามใจชอบ เพราะมันอาจจะไร้สาระเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์
ห้องทำงานกับสนามเทนนิส
ผมเคยมีห้องทำงานที่มีหน้าต่าง แสงแดดและวิวที่มองเห็นผ่านกระจก วันหนึ่งผมต้องไปทำงานห้องทึบที่มีหน้าต่างไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกขุ่นเคืองเซ็ง แต่ก็ต้องจำใจยอมรับสถานการณ์ วันหนึ่งเพื่อนชวนให้ไปดูการแข่งเทนนิสมืออาชีพ รอบแรกๆมีแข่งพร้อมกันหลายคู่ คู่สำคัญจะจัดที่สนามใหญ่ที่สามารถจุคนดูได้ถึงหมื่นหกพันคน สนามเล็กรองมาจุได้หลักพัน จนถึงสนามที่เราเล่นกันทั่วๆไป
หลังจากชมคู่แรกที่สนามใหญ่ เพื่อนก็ชวนไปดูคู่อื่นที่สนามเล็ก ผมสังเกตความต่างของทั้งสองสนาม สักครู่ก็เห็นว่า หากตัดเรื่องของบริเวณผู้ชมออกตัวสนามเองแทบไม่มีความต่างกันเลยขนาดก็เท่ากันเพราะเป็นขนาดมาตรฐาน สีเดียวกัน เน็ทเหมือนกัน ลูกรุ่นเดียวกันทุกคู่แล้วนึกถามตัวเองว่า แล้วนักเทนนิสหละ ก็เห็นภาพว่าทุกคนเล่นเต็มที่ถ้าเข้ารอบลึกๆ ก็ได้ไปเล่นสนามใหญ่แต่เขาก็ยังใช้ไม้เทนนิสอันเดิม รองเท้าคู่เดิม แต่งตัวเดิมๆ คนจะมาดูมากหรือน้อยแค่ไหน สำหรับคนเล่นแล้วก็ต้องเล่นเต็มที่เหมือนเดิม
แล้วจิตก็น้อมนึกถึงห้องทำงานที่สร้างความขุ่นใจอยู่ ได้รับคำตอบชัดว่า การทำงานของเราก็ไม่ต่างอะไรกับการแข่งเทนนิสของนักกีฬาเหล่านี้ เขาเล่นเต็มที่เราก็ทำงานให้เต็มที่ เล็กหรือใหญ่ ไม่ควรเอาเรื่องหน้าต่างมารบกวนจิตใจให้ทำงานไม่เต็มที่เลย แล้วจิตก็ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข จากนั้นผมก็สามารถเดินเข้าห้องทำงานนี้ได้โดยไม่ขุ่นเคืองใจที่จะมองหาหน้าต่างอย่างวันก่อนๆ อีกเลย
ยุ่ง….ไม่ยาก
มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้านด้วยกัน มักจะเกิดปัญหาว่า ขณะที่สามีขับรถ ภรรยาก็เหมือนช่วยขับ บอกให้ระวังคันหน้าคันหลัง มีสัญญาณไฟเขียว ไฟแดง ทางแยก คนข้ามถนน ฯลฯ โดยเฉพาะตอนหาที่จอดรถ ก็บอกให้จอดตรงนั้นตรงนี้แบบกะทันหัน เป็นเหตุให้เกิดความหงุดหงิดทะเลาะกันบ่อยๆ ภรรยาก็จะเงียบไป 2- 3 วัน แล้วก็กลับมาเป็นแบบเดิม เป็นหนึ่งในวัฏจักรชีวิตครอบครัว ที่วนเวียน ซ้ำซาก!
ต่อมาสามีได้มาอบรมปฏิบัติธรรม ตามแนวของหลวงพ่อทูล ฝึกใช้ปัญญาพิจารณายอมรับผล ค้นหาเหตุ และ “ยอมแพ้เป็น” อารมณ์ร้อน จิตใจขุ่นข้องจึงได้ผ่อนคลาย วันหนึ่งนึกเห็นภาพขณะนั่งรถตู้ไปกับเพื่อนที่เป็นนายทหาร เพื่อนจะสั่งพลขับให้เลี้ยวช้าย เลี้ยวขวา ไปทางไหนเตือนให้ระวังอะไรก็ตาม พลขับจะตอบว่า”ครับ” ทุกครั้งไป โดยไม่มีทีท่าอารมณ์เสียแต่อย่างใด ทำให้ได้คิดถึงชีวิตตนเอง
ต่อมาเมื่อขับรถไปธุระ เหตุการณ์เดิมๆ ก็กลับมา ภรรยาบอกว่า เลี้ยวขวา สามีก็ตอบว่า “‘ครับ” ให้เปลี่ยนช่องทาง สามีก็ “ครับ” เตือนให้ระวังไฟแดง สามีก็ “ครับ” ชี้ที่ว่างให้จอดแบบกะทันหัน ก็ยัง “ครับ” ทั้งนี้ก็เพราะได้ทำใจเปลี่ยนบทบาทมาอยู่กับสิ่งตรงหน้า คือ หน้าที่คนขับรถ ไม่ใช่สามี แล้วแสดงบทบาท ทำหน้าที่คนขับรถให้ดี ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องขับรถ แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วย ก็จะไม่รู้สึกหงุดหงิด เวลาได้ยินเสียงบ่นหรือเตือน ตั้งใจทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุดทุกบทบาทที่เป็น เช่น คนล้างจาน คนสวน ฯลฯ ง่ายๆ แค่ฝึกใจ ยอมแพ้เป็น ความเหนื่อยล้า กาย ใจ ค่อยๆหายไป ชีวิตครอบครัวปกติสุข