พยานบุคคล
แม่ชี ศรัญญา เทียนเงิน
( แม่โย )
1 .ประวัติ
แม่ชี ศรัญญา เทียนเงิน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ที่ตำบลท่าพระ จังหวัดขอนแก่น เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนลูกทั้งหมด 8 คน ของคุณพ่ออยู่คิม แซ่โค้ว คุณแม่หยู่เซียม แซ่พัว พ่อแม่ทำการค้า ขายของป่า พวกป่าน ปอ หนังสัตว์ต่างๆ
จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ (MBA) จาก Portland State University ในรัฐโอเรกอน ได้สมรสกับนายธรรมศักดิ์ เทียนเงิน ในปี ค.ศ. 1979 หลังจากนั้น ได้ย้ายมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย จนถึงปัจจุบัน
ทำอาชีพขายประกันชีวิต เปิดร้านอาหารไทย ร้านโดนัท และทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีบุตรชายหญิง คือ นายอาโนลด์ เทียนเงิน และ นางสาวนิชา เทียนเงิน ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นพระ เป็น พระครูปลัด อาโนลด์ อานันทปัญโญ และแม่ชี นิชา เทียนเงิน
2.แนวคิดและอุบายที่ทำให้บวชมาได้จนถึงปัจจุบันนี้
ได้เข้าใจ วิธีปฏิบัติ แนวปัญญา สัมมาทิฏฐิ อย่างลึกซึ้ง ในวันที่ 22 มกราคม 1999 ด้วยอุบาย เป็ดกับไก่ ได้ขอหลวงพ่อบวช ท่านปฏิเสธและพูดว่า “ธรรมะไม่เคลื่อน ก็ไม่ได้บวช ไม่ได้บวช ธรรมะก็ไม่เคลื่อน” เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยตัดสินใจ “บวชใจ” คือ อธิษฐาน บวชต่อหน้าพระพุทธรูป ขอถือศีล 8 ชั่วชีวิต ในเพศฆราวาส และ ทำงานทางโลกไปด้วย
1995 พบหลวงพ่อครั้งแรกที่ เอสคอนดิโด รัฐแคลิฟอร์เนีย
1998 ร่วมรีทรีทครั้งแรก กับหลวงพ่อทูลที่วัดญาณรังษี รัฐเวอร์จิเนีย
2000 ร่วมก่อตั้ง KPY และเป็นสปอนเซอร์หลัก ซื้อที่ดิน สร้างศูนย์ปฏิบัติ KPY
23 ตุลาคม เกิดอุบัติเหตุ ร้ายแรง บาดเจ็บสาหัส
2002 24 มิถุนายน หลวงพ่อบวชให้ ที่ KPY
ร่วมก่อตั้งวัดซานฟรานธัมมาราม และเป็นผู้อุปถัมภ์หลัก
2008 เป็นผู้อุปถัมภ์หลัก ในการซื้อวัดหลังใหม่ 2641 – 2645 Lincoln Way
2015 ร่วมซื้ออาคาร อกาลิโก 2701 Lincoln Way เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมหญิง
ตั้งแต่บวชจนถึงปัจจุบัน ได้เป็นกำลังหลักในการเผยแพร่คำสอนของหลวงพ่อทูล ผ่านการจัดอบรมธรรมะ และเป็นที่ปรึกษาในการสร้างสื่อธรรมะต่างๆ ในหลายภาษา ตามที่หลวงพ่อเคยปรารภไว้ก่อนท่านจะดับขันธ์ ว่า ให้เอาคำสอนของหลวงพ่อ ออกสู่สายตาชาวโลก
3.ความประทับใจที่มีต่อหลวงพ่อทูล
ประทับใจหลวงพ่อตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รู้จักกับท่าน ท่านเป็นพระที่กล้าพูดเรื่องความแตกต่างระหว่าง ปัญญา กับ สมาธิความสงบ เคยถามหลวงพ่อว่าทำไมต้องพูด ทำไมไม่ให้นั่งสมาธิแล้วเราค่อยๆ สอนปัญญากับเขา แต่ท่านตอบว่า มันขัดกัน เหมือนสองศาสนา จะบอกว่าถือทั้งสองศาสนาไม่ได้ ต้องชัดเจน หลวงพ่อสามารถเข้าไปสอนธรรมะในฝันได้ บ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน บางครั้งก็สอนตรงๆ หลายครั้งก็เป็นอุบาย หลวงพ่อจะไม่สอนมาก มีครั้งแรกที่ รีทรีทวัดญาณ ท่านสอน “ตน ของของตน เอาเข้าไตรลักษณ์” “ทำใจให้คล้อยไปดังที่คิด” ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ เห็นอะไรที่น่ากลัว อย่าคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับเราเพราะเราเป็นคนดีและปฏิบัติดี แต่ให้คิดว่า “เราจะเป็นอย่างนั้นได้แน่นอน ถ้ายังมาเกิดอีก”
หลวงพ่อสอนให้ดูสื่อ ท่านว่าเดี๋ยวนี้ต้องธุดงค์ในป่าคอนกรีต คือ ดูทีวี อ่านหนังสือทุกประเภท ฟังเพลง แล้วเอามาพิจารณา คิดอะไรก็ได้ให้ลงสู่ไตรลักษณ์จะผิดไม่เป็น ส่วนตัวแล้วได้ใช้หลายวิธีในการพิจารณา มี อุบาย น้อม คิดให้จบ และเปลี่ยนความเห็น
4.ปฎิปทา หรือ ข้อธรรม
พี่โยพูดม๊ากมาก
มีตัวอย่างเรื่องเปลี่ยนความเห็นอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า รุ่นน้องคนหนึ่งว่า “พี่โยพูดม๊ากมาก” ความรู้สึกแรกก็คือ อาย และเสียใจ ที่ทำให้เขาว่าเอาได้ แรกที่เกิดเรื่อง เราคิดว่าเป็นเพราะเราพูดไม่ถูกเวลา ไม่ถูกสถานที่ และ ไม่ถูกบุคคล (สัปปุริสธรรม 7) หรือเราไม่มีเมตตาในการพูด ยังคิดต่อไปอีกว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังถูกตำหนิได้ แล้วเราเป็นใครจะถูกตำหนิบ้างไม่ได้เชียวหรือ มันเป็นทางเดินของการปฏิบัติ ต่อไปนี้ถ้าเขาไม่ถามก็ไม่ต้องพูด ต้องระวังคำพูดให้มาก ใจมันสงบอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ได้เล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านบอก “ฮึ” คำเดียว เลยต้องมาคิดใหม่ เท่าที่คิดไปทั้งหมดนั้น มันเป็นแค่หัวข้อธรรม เป็นชื่อของธรรมะเท่านั้น นั่นเป็นการคิดออกนอก ถูกผิดยังเนื่องด้วยคนอื่นที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ใช่มาจากความเห็นของเราเองล้วนๆ ต้องถามตัวเองว่า ทำไมเราจึงไปเตือนเขาบ่อยๆ เรื่องเดิมๆ คือเรื่องใส่เสื้อผ้าโป๊เข้าวัด แต่การสื่อสาร ทำได้ด้วยปากเท่านั้นหรือ มาคิดๆ ดู การสื่อสารมันทำได้หลายวิธี เช่น เขียนโน้ตบอก ให้คนอื่นที่เขาจะเชื่อฟังมากกว่าเป็นคนบอก ให้ดูรูปภาพ ใช้ความเงียบ หรือ ใช้วิธีมองแต่ไม่พูด ทำให้ดู หรือ ให้เขาถูกคนอื่นตำหนิเองโดยที่เราไม่ต้องยุ่ง
มันเป็นความผิดของเราคนเดียวไหม ที่เข้าใจว่า การบอกจะมีผลดีเท่านั้น นั่นก็เที่ยง การบอกมีวิธีเดียวคือใช้ปาก นี่ก็เที่ยงอีก ถ้าเราไม่เข้าใจผิด เห็นผิดแบบนี้ เราก็คงจะเลือกใช้วิธีอื่นๆ ไม่เลือกใช้แต่ปากอย่างเดียว
ระวังจะโง่ตาย
มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อมาให้อุบายในฝัน เมื่อเข้าใจว่าตีฝันถูกแล้ว ก็ปฏิบัติตามทันที คือ ให้ดูอยู่นิ่งๆ ไม่คิด เช่น เห็นบ้านหลังหนึ่งมีฝาบ้านโดนแดดดีมาก ใจก็คิดทันทีว่า ถ้าเป็นบ้านเรา จะเอาฝาบ้านออกแล้วใส่กระจกแทน จะได้รับแดดเต็มที่ ทันทีก็บอกตัวเองให้หยุดคิด (ทำตามที่ตีจากฝัน) หันไปเห็นเด็กขี่จักรยาน ใจก็ไปอีกว่า เอ๊ะ เขาไปซื้อจักรยานมาจากไหน จักรยานแบบนี้ลูกเราอยากได้ ทันทีก็บอกใจอีกว่า หยุด อย่าคิด หยุดเดี๋ยวนี้ ยังไม่ทันจะรู้เรื่องดีก็หันไปเห็นรถกระบะสีแดงวิ่งผ่านออกไป ใจมันก็ด่าทันทีเลย “ไอ้ชัยบ้าเอ้ย” จับได้ก็รีบหยุดอีก (ยังมีอีกแต่เอาเท่านี้ก่อน)
ดูอยู่แบบนี้สักสองสามวัน เคยคิดพิจารณา แต่ตอนนี้ก็หยุดคิด ดูอย่างเดียว เผอิญหลวงพ่อโทรหา คุยธุระด้วย เลยได้เล่าให้ท่านฟัง ท่านพูดว่า “ระวังจะโง่ตายนะ” อ้าว นึกว่าจะชม กลับโดนซะนี่ สงสัยจะตีฝันผิดไปซะแล้ว เลยต้องกลับมารื้อเรื่องเดิมๆ
มาคิดใหม่ เช่น เรื่องรถกระบะแดง ความเป็นมาก็คือ ไปซื้อรถกระบะกับคุณชัย เขาเป็นผู้จัดการขายรถ พอซื้อรถเสร็จ เงินก็หมด ไม่มีปัญญาจะซื้อแคปที่ใส่คลุมหลังรถกระบะ เนื่องจากเราเป็นลูกค้าประจำ ซื้อรถกับเขาหลายคัน เขาเลยแถมแคปสีขาวครีมให้ ราคาประมาณ 600-700 ดอลล่าร์ แต่เราไม่ชอบสี มันไม่เข้ากับรถ ทั้งยังเป็นแคปเตี้ยๆ เห็นเมื่อไหร่ก็ไม่พอใจ เผลอๆ ก็ด่าเขาด้วย เราอยากได้แคปสูง สีเข้ากันกับรถ แต่เมื่อเอามาพิจารณาว่าแคปนี้มันทำให้เราล็อครถได้ ตลอดมามันก็กันขโมย ชั่วชีวิตการใช้งาน เราก็ไม่เคยจะต้องถอดแคปออกสักครั้ง เราไม่เคยมีความจำเป็นต้องใช้แคปสูงเลย มีแค่ขนผัก ขนอาหารไปส่งลูกค้าธรรมดาๆ และที่สำคัญ เราไม่มีเงินที่จะซื้อแคปถูกใจในตอนนั้น เขาให้ฟรีดีเท่าไหร่แล้ว แทนที่จะเป็นคุณ เรากลับให้โทษเขาเสียนี่ และแคปจะสีอะไร มันก็ไม่เกี่ยวกับการใช้งานเลยสักนิด สำคัญสุดคือตอนนี้ รถคันนั้นก็พักอยู่ในสุสานรถตั้งนานแล้ว แต่ใจเรายังไม่ยอมหยุด เห็นรถสีคล้ายกันเมื่อไหร่ เป็นขึ้นทันที
จากนี้ไป ใจมันมีความเป็นธรรม “คุณชัยขอโทษด้วย” คุณชัยมีความดีความชอบตามความเป็นธรรมแล้ว และหลังจากนั้น เมื่อเห็นรถกระบะแดงขาว ก็มีแต่ความขำในความเกเรของตัวเอง